โคมไฟถนน LED ไฟส่องถนน ได้มาตรฐานกรมทางหลวง
โคมไฟถนนจะเห็นอยู่ตามถนนและทางเท้า เพื่อให้แสงสว่างที่มากเพียงพอในยามค่ำคืน ทางเปลี่ยวหรือตามถนนหนทาง ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางอย่างปลอดภัยและมั่นใจในสภาพแวดล้อมที่มืดมิด เรามักเห็นโคมไฟถนนติดตั้งอยู่ที่ทางแยก บริเวณที่คนเดินเท้ามาก หรือบริเวณที่ต้องการแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย
ทำความรู้จักโคมไฟถนน คืออะไร?
โคมไฟถนน เป็นอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่ติดตั้งบนเสาไฟถนน เพื่อส่องสว่างพื้นที่สาธารณะ เช่น ถนน ทางเดินเท้า สวนสาธารณะ หรือลานจอดรถ มีหน้าที่หลักในการเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรในเวลากลางคืน ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน ลดอุบัติเหตุ และสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับบริเวณนั้น ๆ
ความสำคัญของโคมไฟถนน
โคมไฟถนนเปรียบเสมือนดวงตา ที่คอยส่องสว่างให้กับถนนหนทางในยามค่ำคืน ช่วยในเรื่องของการ
1. เพิ่มความปลอดภัย
แสงสว่างจากโคมไฟถนน LED ช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมองเห็นสภาพถนน สัญญาณจราจร และสิ่งกีดขวางได้ชัดเจน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
2. สร้างความมั่นใจ
การเดินทางในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอจะช่วยให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ลดความวิตกกังวลในการเดินทางในเวลากลางคืน
3. ป้องกันอาชญากรรม
แสงสว่างจะช่วยลดโอกาสในการเกิดอาชญากรรม ทำให้ผู้กระทำผิดไม่สามารถแอบซ่อนตัวในที่มืดได้ และไม่กล้าก่ออาชญากรรมได้
ประเภทของโคมไฟถนน
โคมไฟถนนมีหลากหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีลักษณะและการใช้งานที่แตกต่างกันไป การเลือกใช้โคมไฟถนนให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้แสงสว่าง และสร้างความสวยงามให้กับพื้นที่ได้อย่างลงตัว
1. ประเภทโคมไฟถนน ตามแหล่งกำเนิดแสง
-
โคมไฟถนนหลอดไส้
โคมไฟรุ่นเก่าที่ใช้หลอดไส้เป็นแหล่งกำเนิดแสง ให้แสงสีเหลืองนวล แต่สิ้นเปลืองพลังงานและมีอายุการใช้งานสั้น ทำให้ค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า
-
โคมไฟถนนหลอดฟลูออเรสเซนต์
ให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไส้ และประหยัดพลังงานมากกว่า แต่มีข้อเสียคือมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ และมีการกะพริบของแสงเล็กน้อย
-
โคมไฟถนน LED / LED Street Light
เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ให้แสงสว่างสม่ำเสมอ มีอายุการใช้งานยาวนาน ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. ประเภทโคมไฟถนน ตามการกระจายแสง
-
โคมไฟแสงกระจาย
ให้แสงสว่างกระจายออกไปในวงกว้าง เหมาะสำหรับส่องสว่างพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ หรือลานจอดรถ
-
โคมไฟแสงรวม
ให้แสงสว่างเฉพาะจุด เหมาะสำหรับส่องสว่างป้ายบอกทาง หรือทางเดิน
3. ประเภทโคมไฟ ตามการติดตั้ง
-
โคมไฟติดตั้งบนเสา
รูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งความสูงของเสาที่ใช้ติดตั้งโคมไฟถนนจะแตกต่างกันไป โดยความสูงของเสาอาจอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 เมตร แต่ก็อาจสูงถึง 20 เมตรขึ้นไป ในบางกรณี
-
โคมไฟติดตั้งบนผนัง
เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการติดตั้ง มีทั้งแบบเน้นให้แสงสว่างและเน้นการตกแต่ง เพื่อเพิ่มความสวยงามและสว่างไสวให้ในหลากหลายพื้นที่ เช่น ทางเดิน หรือแม้แต่ภายนอกอาคาร
-
โคมไฟติดตั้งใต้ดิน
โคมไฟที่ออกแบบมาให้ฝังลงไปใต้ดิน โดยมีส่วนของโคมไฟโผล่พ้นพื้นดินออกมาเล็กน้อย เพื่อให้แสงสว่างส่องขึ้นมาด้านบน มักใช้ตกแต่งสวน สนาม หรือบริเวณทางเดิน ทำให้พื้นที่ดูสวยงามและมีมิติในเวลากลางคืน โคมไฟชนิดนี้มักทนทานต่อสภาพอากาศและมีระบบกันน้ำกันฝุ่นเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนาน
วิธีการเลือกซื้อโคมไฟถนน
การเลือกและดูแลโคมไฟถนนให้เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่ากับการลงทุน โดยควรพิจารณาเรื่อง
-
ประเภทของโคมไฟถนน
ปัจจุบันมีโคมไฟถนนหลายประเภท เช่น โคมไฟถนน LED, โคมไฟถนนโซล่าเซลล์ ซึ่งแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ควรเลือกให้เหมาะสมกับงบประมาณและความต้องการในการใช้งาน
-
ความสว่างของแสง
การเลือกความสว่างที่เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน โดยดูจากค่า Lux ซึ่งเป็นหน่วยวัดความเข้มของแสงสว่างที่ตกกระทบพื้นผิว ตัวอย่างเช่น โคมไฟส่องถนนสายหลัก จำเป็นต้องมีความสว่างสูงกว่าโคมไฟถนนตรงทางเดินเท้า เนื่องจากปริมาณการจราจรและความเร็วของรถที่แตกต่างกัน
โดยทั่วไปแล้ว ทางหลวงสายหลักจะต้องมีความสว่าง มากกว่า 21.5 Lux เพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นสัญญาณจราจรและสิ่งกีดขวางได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ทางเดินเท้าอาจมีความสว่างที่ต่ำกว่าได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ แต่ก็ต้องเพียงพอให้ผู้เดินเท้ามองเห็นเส้นทางได้อย่างปลอดภัย
-
กำลังวัตต์
นอกจากนี้การเลือกซื้อโคมไฟถนนควรคำนึงถึง “กำลังวัตต์” หน่วยวัดกำลังไฟฟ้า ที่บอกให้รู้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือโคมไฟนั้น ๆ ต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าไหร่ในการทำงาน ยิ่งกำลังวัตต์สูงก็จะสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าในระยะยาว ดังนั้นควรเลือกโคมไฟถนนที่มีกำลังวัตต์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน โดยพิจารณาจากความกว้างของถนน ระยะห่างระหว่างเสาไฟ และปริมาณการจราจร ควรเลือกโคมไฟที่มีค่าความสว่าง (Lumen) สูง เพื่อให้ได้แสงสว่างที่เพียงพอ แต่เลือกกำลังวัตต์ที่ต่ำ เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยีโคมไฟถนน LED ในปัจจุบัน สามารถให้ค่าความสว่างที่สูงได้ในขณะที่ใช้กำลังวัตต์ต่ำ ทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
-
การกระจายแสง
การกระจายแสงของโคมไฟถนน เปรียบเสมือนการจัดวางแสงให้ส่องสว่างไปในทิศทางที่ต้องการ ดังนั้นการเลือกโคมไฟที่มีการกระจายแสงที่เหมาะสม จะทำให้ไฟส่องพื้นผิวถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดแสงสะท้อนที่รบกวนสายตา ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรและลดการเกิดอุบัติเหตุได้
-
อายุการใช้งาน
เลือกโคมไฟที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ผลิตโคมไฟถนนว่ามีความทนทานต่อสภาพอากาศและการกัดกร่อนหรือไม่ และเลือกโคมไฟที่มีระบบระบายความร้อนที่ดี เพื่อยืดอายุการใช้งานของชิ้นส่วนภายใน ถึงแม้การลงทุนกับโคมไฟถนนที่มีคุณภาพสูงตั้งแต่ครั้งแรก อาจจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในตอนเริ่มต้น แต่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดความยุ่งยากในการบำรุงรักษาได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ควรเลือกผู้ผลิต หรือตัวแทนจำหน่ายที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการติดตั้งโคมไฟถนน เพื่อให้ได้ได้งานที่มีคุณภาพ และถูกต้องตามมาตรฐาน